ผลการวิเคราะห์ค่าดัชนี CCAI (Climate Change Awareness Index)
จากผลการประเมินความตระหนักของประชาชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก จำนวน 7 จังหวัด (จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี) ด้วยระบบประมวลผลกึ่งอัตโนมัติฯ โดยเลือกแบบสอบถามเพื่อประเมินความตระหนักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาชนในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก และลงพื้นที่เก็บข้อมูลโดยเลือกสุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อยู่อาศัยในตำบลที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยรูปตัว ก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายน พ.ศ. 2562 จำนวน 5 ครั้ง ผลการสำรวจเก็บข้อมูลในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนทั้งหมด 373 คน เป็นเพศหญิง 211 คน และเพศชาย 162 คน คิดเป็น ร้อยละ 57 และ 43 ตามลำดับ มากกว่าร้อยละ 75 ของกลุ่มตัวอย่าง มีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญา โดยกลุ่มตัวอย่างได้รับข้อมูลข่าวสารด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน จากโทรทัศน์มากที่สุด (ร้อยละ 84.72) ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เข้าร่วมกิจกรรมด้านการปลูกและอนุรักษ์ป่าชายเลนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 43.70 รองลงมา กิจกรรมด้านการป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ/สภาวะโลกร้อน ร้อยละ 14.75 ตามลำดับ
สำหรับผลการวิเคราะห์ดัชนี CCAI ของกลุ่มตัวอย่าง มีค่าอยู่ในช่วง 0.47-0.76 และมี การแจกแจงปกติซึ่งค่าดัชนี CCAI ในช่วง 0.51 ถึง 0.60 มีความถี่สูงสุด (แสดงดังภาพที่ 1) และเมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติมถึงองค์ประกอบของความตระหนักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ความรู้ด้าน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน มีค่าคะแนนสูงสุด คือ 0.68 รองลงมา คือ ความกังวลต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (0.56) และพฤติกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาชน (0.40) (แสดงดังภาพที่ 2)
ภาพที่ 1 การแจกแจงของดัชนี CCAI ที่ทำการประเมินจากกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ที่ติดกับอ่าวไทยรูปตัว ก จำนวน 373 คน
ภาพที่ 2 ค่าเฉลี่ยขององค์ประกอบหลักของดัชนี CCAI สำหรับกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ที่ติดกับอ่าวไทยรูปตัว ก จำนวน 373 คน