Error
  • Item not found

โครงการประเมินสภาวะความรุนแรงและผลกระทบจากอุทกภัยและภัยแล้งในประเทศไทยอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (ปี พ.ศ. 2551 - 2552)

Friday, 07 September 2012 Read 1318 times Written by 

รายงานฉบับสมบูรณ์

โครงการประเมินสภาวะความรุนแรงและผลกระทบจากอุทกภัยและภัยแล้งในประเทศไทยอันเนื่องมาจาก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก  (ปี พ.ศ. 2551 - 2552)

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ปี พ.ศ. 2552

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

          ภัยแล้งและอุทกภัย เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural disaster) ที่มีต้นกำเนิดจากความแปรปรวนของระบบภูมิอากาศและวัฏจักรของน้ำ (Hydrological cycle) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความผันแปรของฝนในแง่ความถี่ ความรุนแรงและระยะเวลา ภัยแล้งและอุทกภัย นับว่าเป็นสภาวะความรุนแรง (Extreme events) ด้านอุทก-อุตุนิยมวิทยา (Hydro-meteorology)1 ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม More complex event - driven extremes2  ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มักปรากฏอยู่บริเวณปลายทั้งสองด้านของการแจกแจงทางสถิติ โดยสัดส่วนการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว มักแปรผันในลักษณะเอ็กโพเนนเชียลกับค่าเฉลี่ยของสภาพภูมิอากาศ (Mean climate state) มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้สูงและรวดเร็วกว่า Mean climate state3 โดยทั่วไป ความถี่ของการเกิดและความรุนแรงของเหตุการณ์ มักเชื่อมโยงกับกระบวนการตามธรรมชาติที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาสมุทร บรรยากาศและพื้นดิน ในรูปของพลังงานความร้อน ความชื้นและโมเมนตัม ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความแปรปรวนตามธรรมชาติของระบบภูมิอากาศโลกที่สำคัญ เช่น El Niño - Southern Oscillation (ENSO), North Atlantic Oscillation (NAO), Global Monsoon, Pacific - North American (PNA) pattern, Pacific Decadal Oscillation (PDO) และ Indian Ocean Dipole (IOD)4 ผลการศึกษาที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และกลไกการเชื่อมโยง ระหว่างแต่ละโหมดของความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและภาวะความแห้งแล้งและอุทกภัยในหลายพื้นที่ของโลก3,4,5,6,7,8,9,10,11,12,13,14,15,16,17 นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นและสะสมของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศหลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ยังเป็นปัจจัยเสริมที่ส่งผลให้ภัยแล้งและอุทกภัย มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและความถี่ของเกิดเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีความแปรปรวนสูงทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา ทั้งนี้เนื่องจากภายใต้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกจากปรากฏการณ์เรือนกระจก ส่งผลให้ความสามารถในการรองรับความชื้นและไอน้ำของชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น ประกอบกับเป็นปัจจัยเร่งการเคลื่อนย้ายมวลน้ำ ความชื้นและพลังงานความร้อนในแต่ละองค์ประกอบของวัฎจักรน้ำ ให้มีอัตราที่เร็วขึ้นกว่าปกติที่เกิดขึ้นในอดีต (Enhanced hydrological cycle)3,4 Milly และคณะ (2002) ได้ศึกษาความเสี่ยงของอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่มีปริมาณน้ำท่าถูกระบายออกมากกว่าระดับ 100 ปี (100 - year level) ในลุ่มน้ำขนาดใหญ่ (> 200,00 กิโลเมตร) จำนวน 29 ลุ่มน้ำทั่วโลก โดยผลการ  ศึกษา พบว่า ความถี่การเกิดอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ เพิ่มขึ้นอย่างมากในศตวรรษที่ 20 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ด้วยแบบจำลองทางภูมิอากาศที่แสดงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นในอนาคต18 ในขณะที่     Dai และคณะ (2004) ได้ใช้ดัชนี Palmer Drought Severity Index (PSDI) วิเคราะห์พื้นที่แห้งแล้งของโลก ซึ่งผลการศึกษา พบว่า ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 พื้นที่แห้งแล้ง มีแนวโน้มขยายเพิ่มขึ้นเป็นบริเวณกว้างในซีกโลกทางด้านเหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทวีปยุโรปและเอเชีย บริเวณด้านเหนือของทวีปแอฟริกา ประเทศแคนนาดา และรัฐอาลาสกาของประเทศสหรัฐอเมริกา3

 
          ภัยพิบัติจากภัยแล้งและอุทกภัย นับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาของแต่ละประเทศ ซึ่งได้ส่งผลต่อความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจและสังคม เป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี จากรายงาน Thirty years of natural disasters 1974 - 2003: The numbers ของ Center for Research on the Epidemiology of Disasters (CRED) พบว่า ในช่วง ค.ศ. 1974 - 2003 ได้เกิดภัยแล้งครั้งยิ่งใหญ่ จำนวน 640 ครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากว่า 1 ล้านคน และส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 1,800 ล้านคน19 ในขณะที่ อุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ จำนวน 2,156 ครั้ง ได้ถูกรายงานและบันทึกในฐานข้อมูล Emergency Events Database (EM-DAT) ของ CRED ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 206,303 คน และส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 2,600 ล้านคน19 ยิ่งกว่านั้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนสูงสุด 10 อันดับแรกในช่วง ค.ศ. 1974 - 2003  คือ ภัยแล้ง จำนวน 3 ครั้ง และอุทกภัย 7 ครั้ง โดยภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนสูงสุด 10 อันดับแรกดังกล่าว เกิดขึ้นในทวีปเอเชียทั้งหมด    เมื่อพิจารณาในภาพรวมโดยเปรียบเทียบกับทวีปอื่น ๆ แล้ว ทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนและอินเดีย เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและอุทกภัยสูงสุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา19

 
          ประเทศไทย นับว่าเป็นประเทศหนึ่งในทวีปเอเชียที่มีความล่อแหลมสูงต่อความแปรปรวน/การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาวะความรุนแรงลมฟ้าอากาศและภัยพิบัติทางภูมิอากาศในรูปของภัยแล้งและอุทกภัย เนื่องจากการดำรงชีวิตของประชาชนและการพัฒนาประเทศในภาพรวม ต้องพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติและผลผลิตที่มีความเปราะบางสูงต่อความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ทรัพยากรน้ำ ผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนทรัพยากรชายฝั่ง อีกทั้งเมืองขนาดใหญ่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการค้า และประชากรตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่น อยู่บริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำและชายฝั่ง20,21 ประเด็นที่สำคัญที่สังเกตได้ชัดเจน ในปัจจุบัน คือ ประเทศไทย กำลังเผชิญกับสภาวะความรุนแรงและภัยพิบัติของลมฟ้าอากาศและสภาพภูมิอากาศ (Extreme weather and climate events) ในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงและความถี่ของการเกิดบ่อยครั้งขึ้น22,23 ทั้งนี้ พบว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดภาวะภัยแล้งและอุทกภัยที่รุนแรงในประเทศไทยมากกว่า 50 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึงหลายพันล้านบาท19 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานระหว่างปี พ.ศ. 2532 – 2547 พบว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูงถึง 65,497 ล้านบาท24 นับได้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรประสบอุทกภัย 6,560,541 ไร่ ใน 58 จังหวัด ราษฎรได้รับผลกระทบ จำนวน 6,050,674 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นถึง 9,627,418,620 บาท24 ภาวะภัยแล้งและอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2551 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงและความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศ ที่มีต่อการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม25


          ภัยพิบัติและความเสียหายจากภัยแล้งและอุทกภัย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย ถูกการคาดการณ์ว่า จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในอนาคตอันใกล้ ตามสภาวะความแปรปรวนตามธรรมชาติของระบบภูมิอากาศโลก ที่มีการเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์อย่างซับซ้อนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบถึงกันและกันมากขึ้นเป็นลำดับ4,26 ทั้งนี้เนื่องจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย ตั้งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางความแปรปรวนของระบบภูมิอากาศโลกที่สำคัญ คือ ENSO, Asian Monsoon และ IOD ซึ่งเป็นโหมดความแปรปรวนของระบบภูมิอากาศที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนความร้อนและความชื้นระหว่างมหาสมุทร บรรยากาศและพื้นดิน บริเวณเส้นศูนย์สูตรระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบภูมิอากาศโลกที่มีแนวโน้มความผิดปกติของความแปรปรวนเพิ่มขึ้นในแง่ของความรุนแรงและความถี่ ตามสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกและอุณหภูมิของโลก27,28,29 การคาดการณ์ดังกล่าว ค่อนข้างสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์แนวการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและฝนในประเทศไทย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์ ENSO30,31 นอกจากนี้  ผลการวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาวะความรุนแรงของลมฟ้าอากาศ แสดงให้เห็นถึงสภาวะความรุนแรงของอุณหภูมิ  ฝนและความชื้นในหลายภูมิภาคของประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงที่มีรูปแบบและแนวโน้มที่สอดคล้องกับภาวะโลกร้อน ซึ่งสื่อถึงความเสี่ยงของการเกิดภาวะภัยแล้งและอุทกภัยในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย32,33 ดังนั้น แนวทางและวิธีการที่เหมาะสมในการปรับตัวและการลดผลกระทบ จึงมีความสำคัญเร่งด่วนลำดับต้น ๆ ที่ต้องรีบดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิเคราะห์ความล่อแหลม และการประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เกิดจากภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่วิกฤติ ตลอดจนการศึกษารูปแบบและแนวทางการปรับตัวในลักษณะ community-based adaptation เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ รวมทั้งรูปแบบและแนวทางที่เหมาะสมต่อบริบทของประเทศไทย ที่สามารถนำไปสู่การวางแผน จัดการ และขยายผลได้อย่างเป็นรูปธรรม  

วัตถุประสงค์

  • เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มความรุนแรงและความถี่การเกิดภัยแล้งและอุทกภัยในประเทศไทย
  • เพื่อวิเคราะห์พื้นที่วิกฤติ (hot spots) ของภัยแล้งและอุทกภัย
  • เพื่อศึกษาวิธีการและแนวทางการวิเคราะห์ความล่อแหลมและประเมินความเสี่ยงจากภัยแล้งและอุทกภัย


รายงานฉบับสมบูรณ์

ติดต่อ: ดร.อัศมน ลิ่มสกุล

e-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Tel: 02-577-4198 ต่อ 1129

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank