การปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรณี: การกัดเซาะชายฝั่ง
ชุมชนบ้านปากพญา ตำบลท่าซัก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 235 กิโลเมตร เป็นจังหวัดในลำดับแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง มีชายฝั่งที่อยู่ในสภาพปกติไม่ถึงครึ่งของความยาวชายฝั่งทั้งหมด จากการสำรวจพื้นที่กัดเซาะ ทำให้เห็นภาพการกัดเซาะในภาพกว้าง โดยพื้นที่เสียหายมีทั้งชุมชนชายฝั่ง บ่อปลา บ่อกุ้ง สวนมะพร้าว รวมทั้งโครงสร้างตามแนวชายฝั่ง ทั้งเขื่อนคอนกรีต และเขื่อนหินทิ้ง สาเหตุส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งที่ไม่เหมาะสมต่อสภาพธรรมชาติของพื้นที่ โครงสร้างดังกล่าว ล้วนเป็นสิ่งที่กีดขวางกระแสน้ำและการเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่ง และทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำทะเล มีผลให้เกิดการสะสมตัวของตะกอนด้านใต้ของโครงสร้าง แต่มีการกัดเซาะอย่างรุนแรงทางด้านทิศเหนือ เนื่องจากการเคลื่อนตัวของกระแสน้ำและตะกอนชายฝั่งที่มีทิศทางจากด้านใต้ไปทางเหนือนั้น ไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านโครงสร้างเหล่านี้ไปได้ ทำให้เกิดการแปลงแนวชายฝั่งที่ไม่พึงประสงค์ โดยกัดเซาะชายฝั่งต่อไปเรื่อยๆ และลุกลามไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น แนวทางปรับตัวเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบยั่งยืน
ตำบลท่าซัก เดิมทีมีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 13,200 ไร่ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยขน์ที่ดิน จากป่าชายเลนซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่ามากมายมหาศาล ได้ถูกทำลายเปลี่ยนสภาพกลับกลายเป็นนากุ้งเกือบเต็มพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนเป็นนากุ้งในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแต่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง จนมีคำพูดสั้นๆ ว่า “กุ้งมา ... หอย ปู ปลา ... หายหมด”
บ้านปากพญา ประชากรกว่า100 หลังคาเรือนประกอบอาชีพทำนากุ้งมากว่า 30 ปี ประสบปัญหากับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในช่วง 3-4 ปีหลัง ดังเช่น เมื่อต้นปี 2555 ชุมชนบ้านปากพญา ต.ท่าซัก ได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ หลังจากประสบปัญหาในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ปี 2554 ที่ประสบกับภาวะอุทกภัยจากพิษภัยของลมมรสุมที่พัดเข้าถล่มจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ส่งผลให้ระดับน้ำสูงจากพื้นดิน 1 เมตร จากการที่ปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละครั้งเพิ่มปริมาณมากขึ้นและฝนตกผิดฤดูกาลจากที่เคยเป็น ประกอบกับน้ำทะเลในช่วงเวลาน้ำหนุนมีปริมาณสูงมากกว่าเดิม ทำให้น้ำท่วมคันบ่อกุ้งได้รับความเสียหาย
ชุมชนบ้านปากพญา มีพื้นที่ที่เปิดรับต่อภัยธรรมชาติรอบด้าน ด้วยเป็นชุมชนที่อยู่ติดชายทะเลต้องเผชิญกับลมพายุจากมรสุมที่มีความถี่และรุนแรงมากขึ้น สภาพชุมชนที่อยู่ริมคลองปลายน้ำต้องเผชิญกับน้ำเหนือไหลบ่าในช่วงฤดูฝน และหากเจอกับช่วงน้ำทะเลหนุนก็จะเกิดน้ำท่วมได้ทันที รวมทั้งสภาพชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาน ถนน น้ำ ไฟ ไม่เพียงพอ หากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้นการช่วยเหลือ หรือการติดต่อกับภายนอกแทบไม่สามารถทำได้ กรอปกับบ้านปากพญามีอาชีพหลักคือการเลี้ยงกุ้งเพียงอย่างเดียว และไม่ได้ถือครองสิทธิที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ทั้งหมดที่กล่าวมานับ เป็นความอ่อนไหวประการสำคัญของชุมชนที่จะส่งผลให้ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แนวทางการปรับตัว ชาวบ้านในชุมชนบ้านปากพญาได้เริ่มศึกษาเรียนรู้ปัญหาจากโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนชายฝั่งทะเลเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิรักษ์ไทย และชาวบ้านชุมชนบ้านปากพญา (ขออนุญาติแก้ไขเนื้อหาที่ผิดพลาด โดยตัดหน่วยงานที่ไม่ได้ร่วมดำเนินงานออกนะครับ) ซึ่งสามารถสรุปแนวทางการปรับตัวได้ดังนี้
o แนวทางในการประกอบอาชีพใหม่ โดยหันไปศึกษาการทำเกษตรอย่างยั่งยืน เช่น การทำสวนปาล์ม ในพื้นที่นากุ้งเดิม
o การรวมกลุ่มของชาวบ้านทั้ง ในรูปแบบของกลุ่มออมทรัพย์ และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่มีอยู่ในปัจจุบันจะเป็นต้นทุนที่สำคัญในการศึกษาและหาแนวทางในการตั้งรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
o เพิ่มเติมความรู้ที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้านทั้งในส่วนอาชีพเดิม อย่างช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปของลมมรสุมต่อการเพาะเลี้ยงและเก็บเกี่ยวผลผลิตจากนากุ้ง และในส่วนของอาชีพเสริมหรืออาชีพใหม่อย่างสวนปาล์ม
นอกจากนี้ แนวทางการปรับตัวของชาวบ้านชุมชนบ้านปากพญาที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ “การต่อสู้กับปัญหาการการกัดเซาชายฝั่ง” จากบทเรียนที่ผ่านมาของชาวบ้านปากพญา พบว่า ป่าชายเลนเป็นผืนป่าที่เปรียบเสมือนหัวใจซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกาย การเยียวยารักษา ฟื้นคืนสภาพป่าชายเลนให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์เหมือนก่อน จะเป็นแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สร้างความสมดุลและความยั่งยืนอย่างสูงสุด
“ทำไม ... ต้องฟื้นคืนป่าชายเลน” ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างมากมายมหาศาล เพราะป่าชายเลนเป็นที่รวมของพืช สัตว์น้ำและสัตว์บกนานาชนิด ซึ่งมีความสำคัญและประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์หลายรูปแบบ เช่น ไม้ในป่าชายเลนนำมาใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ กันได้หลายรูปแบบ หรือการทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำ เป็นที่อยู่อาศัยและที่อนุบาลสัตว์น้ำในระยะตัวอ่อนกุ้งและปลา ที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อาศัยป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงตัวอ่อน เช่น กุ้งกุลาดำ ปลากะพงขาว และปลาอื่นๆ รวมถึงเป็นแหล่งสำหรับลดความรุนแรงของคลื่น ป้องกันการพังทลายของดินชายฝั่ง ช่วยชะลอความเร็วของลม พายุให้ลดลงก่อนที่จะขึ้นสู่ฝั่งไม่ให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงแก่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณใกล้เคียง ช่วยเพิ่มพื้นที่ตามชายฝั่ง เพราะระบบรากของไม้ป่าชายเลนจะช่วยในการทับถมของเลนโคลน ทำให้เกิดดินเลนงอกใหม่อยู่เสมอ ช่วยกรองของเสืยที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม มิให้ไหลลงสู่ทะเล สร้างความเสียหายแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศในบริเวณชายฝั่งได้
แล้ว ... จะใช้วิธีไหน ? ชาวบ้านปากพญา โดยแกนนำกลุ่มประมงพื้นบ้านชุมชนปากพญา ได้เรียนรู้ผ่านการศึกษาดูงานจากพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน พวกเขาระดมความคิด ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจคัดเลือกวิธีการที่จะนำเข้ามาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง ...
“แนวกันคลื่นคอนกรีต” จะใช้แบบนี้ดีหรือไม่ ... ไม่ดีกว่า ราคาสูงไป สร้างไปไม่นานก็พังอีก เราไม่มีเงินมากขนาดนั้นตัวอย่างก็มีให้เห็นสร้างเท่าไหร่ก็พัง ... แกนนำคนนึงกล่าว
“แนวกันคลื่นไม้ไผ่” คือ คำตอบสุดท้ายของชาวบ้านปากพญา ซึ่งข้อดีของมันก็คือ ใช้แนวทางธรรมชาติในการแก้ไขปัญหา ใช้งบประมาณน้อย และสร้างผลกระทบต่อชายฝั่งข้างเคียงและระบบนิเวศน้อย ในขณะที่ข้อด้อยของแนวกันคลื่นไม้ไผ่คือ ลดพลังคลื่นได้ไม่มาก อายุการใช้งานสั้น (3-5 ปี) จำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาซ่อมแซมตลอด ใช้วัสดุปริมาณมากและต้องใช้แรงงานจำนวนมาก
ชาวบ้านปากพญาได้เลือกแนวทางของพวกเขาแล้ว แนวทางนี้พวกเขาเห็นว่าเหมาะสมและมีความเป็นไปได้ที่สุด พวกเขาได้ดำเนินการปักไม้ไผ่กันคลื่นเป็นแนวยาวประมาณ 200-300 เมตร บริเวณด้านหน้าผืนป่าชายเลนที่เสียหาย ซึ่งอาจคิดเป็น 30% ของแผนการดำเนินงานที่ชาวบ้านปากพญาต้องการ เนื่องจากการจัดทำแนวกันคลื่นไม้ไผ่ต้องใช้งบประมาณในการหาซื้อไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ซึ่งจำเป็นต้องรอเวลาหรืองบประมาณการสนับสนุนจากภาครัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่ให้ความสำคัญกับปัญหาของพวกเขา ในขณะนี้พวกเขาเพียงได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิรักษ์ไทซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีแก่พื้นที่เป็นอย่างยิ่งที่มีหน่วยงานเริ่มให้ความสนใจและให้การช่วยเหลือสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน
ทำได้แค่ไหน ... ก็ต้องทำไปก่อน คำพูดสั้นๆ ที่ให้ความหมายอย่างชัดเจนจากแกนนำชาวบ้านคนนึง เขาให้ความเห็นว่าการจัดทำแนวกันคลื่นไม้ไผ่นี้ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาการกัดเซาะได้ไม่มากก็น้อย เขาต้องการให้แนวกันคลื่นไม้ไผ่เป็นตัดกักเก็บหรือสะสมตะกอนดิน เมื่อตะกอนดินมีมากพอจนมีลักษณะเป็นผืนดินประกอบกับเมื่อฤดูมรสุมหมดไป พวกเขาจะดำเนินการปลูกป่าชายเลนเพื่อเพิ่มผืนป่าให้มีพื้นที่มากขึ้น โดยหวังว่า วิธีการนี้จะช่วยให้ระบบนิเวศป่าชายเลนของชุมชนปากพญากลับมามีความอุดมสมบูรณ์เหมือนก่อน
หมายเหตุ :
ทาง webmaster กราบขออภัยชาวบ้านชุมชนบ้านปากพญา และมูลนิธิรักษ์ไท ที่เนื้อหาบางส่วนมีข้อผิดพลาด
ขณะนี้ ได้แก้ไขเนื้อหาให้ถูกต้องแล้ว จึงเรียนถึงชาวบ้านชุมชนบ้านปากพญา มูลนิธิรักษ์ไท และผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนฝ่าย
โปรดให้อภัยกับความผิดพลาดในครั้งนี้ด้วยครับ ทั้งนี้ หากประสงค์ให้แก้ไขเนื้อหาส่วนใดเพิ่มเติม
ขอได้โปรดกรุณาแจ้งมาทาง poddy_thailand@yahoo.com จักขอขอบคุณยิ่งครับ
ขอแสดงความนับถือ